กากรำข้าว (Defatted Rice Bran)

กากรำข้าว

รำข้าวเป็นผลิตผลพลอยได้จากกระบวนการขัดสีข้าว โดยรำข้าว 100 กิโลกรัม สามารถสกัดน้ำมันดิบได้ 16 – 17 กิโลกรัม และได้กากรำข้าว 80 – 81 กิโลกรัม (Naivikul และคณะ, 2008) ซึ่งกากรำข้าวเป็นรำที่ผ่านการสกัดน้ำมันออกแล้ว และถือเป็นผลิตผลพลอยได้จากกระบวนการผลิตน้ำมันรำข้าว โดยทั่วไปกากรำข้าวดังกล่าวนับเป็นวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรที่มีมูลค่าต่ำ และนิยมนำไปใช้เป็นวัตถุดิบผสมอาหารสัตว์ (Hata และคณะ, 2008) เนื่องจากการนำรำข้าวไปสกัดน้ำมันออกด้วยสารเคมี ทำให้ได้โปรตีนสูงขึ้นประมาณร้อยละ 14 – 15 ใยอาหารร้อยละ 13 – 15 มีพลังงานที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ต่ำ และเนื่องจากส่วนไขมันนั้นเหลือประมาณร้อยละ 1 จึงทำให้กากรำข้าวมีลักษณะแห้ง ฟ่าม แทบไม่มีการเกาะตัวกัน เป็นฝุ่นมาก และความน่ากินน้อยลง แต่สามารถเก็บรักษาไว้ได้นานกว่ารำข้าว และไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องการตกค้างของยาฆ่าแมลง อันที่จริงกากรำข้าวยังคงมีคุณค่าทางสารอาหารเท่ากับรำข้าว เพียงแต่มีปริมาณไขมันลดลง ซึ่งสามารถที่จะนำไปใช้ในการเลี้ยงสัตว์ได้ดีเช่นกัน และในปัจจุบันได้มีการคัดเลือกรำที่มีคุณภาพ ไม่มีแบคทีเรีย รา และสารพิษต่างๆ เพื่อนำไปพัฒนาเป็นอาหารสาหรับคน เช่น เครื่องดื่มธัญพืช ผลิตภัณฑ์ขนมต่างๆ เป็นต้น ซึ่งผลิตภัณฑ์ดังกล่าวนั้นล้วนมีจุดเด่น คือ มีปริมาณไขมันน้อย และมีใยอาหารมาก จึงทำให้มีการสกัดแยกเส้นใยอาหารจาก กากรำข้าวในเชิงอุตสาหกรรม เพื่อใช้ในการผลิตผลิตภัณฑ์อาหารเสริมใยอาหาร (นัยนา บุญทวียุวัฒน์ และ เรวดี จงสุวัฒน์, 2545)

 

อ้างอิง:

นัยนา บุญทวียุวัฒน์ และ เรวดี จงสุวัฒน์, 2545, น้ำมันรำข้าวทางเลือกเพื่อสุขภาพของคนไทย, พิมพ์ครั้งที่ 1, สำนักพิมพ์โอเดียนสโตร์, กรุงเทพฯ, หน้า 35-36.

Hata, S., Wiboonsirikul, J., Maeda, A., Kimura, Y. and Adachi, S., 2008, “Extraction of Defatted Rice Bran by Subcritical Water Treatment”, Biochemical Engineering Journal, Vol. 40, No. 1, pp. 44-53.

Naivikul, O., Klinkesorn, U. and Santiwattana, P., 2008, Rice Bran Oil: Innovative Programme on BioBusiness Intivatives, Bangkok, p. 23.

Posted in Knowledge.

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *